วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันสำคัญทางศาสนา


คลิ๊กดูรายละเอียด วันมาฆบูชา
 วันมาฆบูชา : โ อ ว า ท ป า ฏิ โ ม ก ข์

ตรงกับวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส

   เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พระองค์ประทับเสวยวิมุติสุขในเขตปริมณฑลนั้นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ จากนั้นจึงเสด็จไปโปรดคณะปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี » อ่านต่อ


คลิ๊กดูรายละเอียด วันวิสาขบูชา
 วันวิสาขบูชา : ประสูติ - ตรัสรู้ - ปรินิพพาน
ตรงกับวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗ » อ่านต่อ


คลิ๊กดูรายละเอียด วันอัฏฐมีบูชา
 วันอัฏฐมีบูชา : วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ตรงกับ วันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) 

ความหมาย เนื่องด้วยอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้น ๆ วันนี้จึงเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา" » อ่านต่อ


คลิ๊กดูรายละเอียด วันอาสาฬหบูชา
 วันอาสาฬหบูชา : พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
ตรงกับวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

   วันอาสาฬหบูชา เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา เพราะเป็นครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาในครั้งนี้มีชื่อว่า "ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร" ซึ่งได้แก่อริยสัจ 4 ซึ่งหมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว โกญฑัญญะ ก็สำเร็จพระโสดา รู้ตามกระแสพระธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงนับได้ว่า วันนี้ เป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบเป็นองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า นับเป็นวันแรกที่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา » อ่านต่อ


คลิ๊กดูรายละเอียด วันเข้าพรรษา
 วันเข้าพรรษา
ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

   ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ได้ทรงเสด็จ ไปยังทุกแห่งหน เพื่อสั่งสอนหลักธรรมอันประเสริฐ จนมีพุทธสาวกมากมาย โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สุขแก่หมู่มวลมนุษย์โลก พระองค์ได้เสด็จไปยังถิ่นทุรกันดาร ในทุกฤดูกาล ต่อมา ปรากฏว่าในช่วงพรรษาหรือช่วงฤดูฝนได้มีผู้ร้องขอต่อพระองค์ว่าได้เกิดความเสียหาย แก่ข้าวกล้าเพราะถูกเหยียบโดยพุทธบริษัท ซึ่งไม่ได้เจตนา ดังนั้นพระองค์จึงออกพุทธบัญญัติกำหนดให้ พระสงฆ์ทุกรูป จำพรรษา เป็นหลักเป็นแหล่งในช่วงฤดูฝน โดยให้เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนกระทั่งถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 นับเป็น เวลา 3 เดือน ในวันเข้าพรรษานี้ จะมีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ พระภิกษุ สามเณร รวมทั้งยังมีการ ถวายเทียนพรรษา แก่วัดอีกด้วย » อ่านต่อ


คลิ๊กดูรายละเอียด วันออกพรรษา
 วันออกพรรษา
ตรงกับวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

วันออกพรรษา คือวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝนซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ » อ่านต่อ

 หลังจากวันออกพรรษาแล้วมีประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำกันมากคือ การทอดกฐิน[รายละเอียด]


คลิ๊กดูรายละเอียด วันโกน-วันพระ
 วันโกน - วันพระ
วันโกน คือ วันขึ้น ๗ ค่ำ กับ ๑๔ ค่ำ และแรม ๗ ค่ำ กับแรม ๑๔ ค่ำ ของทุก เดือน ( หรือ แรม ๑๓ ค่ำ หากตรง กับเดือนขาด ) ซึ่งเป็นวันก่อนวัน พระ ๑ วัน นั่นเอง
วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ และ แรม ๘ ค่ำ กับแรม ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน(หากตรงกับเดือนขาด อาจเป็น แรม ๑๔ ค่ำ )» อ่านต่อ

การละเล่นไทย

10 การละเล่นพื้นบ้าน เราลืมกันไปหรือยัง?



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก kajarp.wordpress.comกระทรวงวัฒนธรรมคลังปัญญาไทย

           ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไปแล้วจริง ๆ เพราะไม่ว่ามองไปทางไหน ก็จะเห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อย แชทบีบี ทวิตเตอร์ ฟังไอพอด เปิดคอมพิวเตอร์เล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ก กันอย่างสนุกสนานซะแล้ว เรียกว่า ใช้เวลาอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน จนอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่เคยรู้จักและได้ยินการละเล่นพื้นบ้านของไทยไปเลยก็มี หรือหากใครที่รู้จัก และเคยเล่นการละเล่นพื้นบ้านมาแล้ว

           วันนี้กระปุกดอทคอมจะชวนกันมาย้อนอดีตไปในวัยเด็ก ขอรื้อฟื้นความสนุกสนานกับ 10 การละเล่นพื้นบ้าน ที่หลายคนอาจจะหลงลืมไปแล้ว 


 เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ

           "เล่นซ่อนหา" หรือ "โป้งแปะ" เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่ 

           โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น "ผู้หา" ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน "ผู้ซ่อน" ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า "ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว" แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ "ผู้หา" คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า "เอาหรือยัง" ซึ่งเมื่อ "ผู้ซ่อน" ตอบว่า "เอาล่ะ" "ผู้หา" ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า "โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)" ซึ่งสามารถ "โป้ง" คนที่เห็นในระยะไกลได้ จากนั้น "ผู้หา" จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น "ผู้หา" แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง "ผู้หา" หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที "ผู้ซ่อน" คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว "ผู้หา" พร้อมกับร้องว่า "แปะ" เพื่อให้ "ผู้หา" เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

           ประโยชน์จากการเล่นซ่อนหา ก็คือ ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สามารถจับทิศทางของเสียงได้ รวมทั้งรู้จักประเมินสถานที่ซ่อนตัว จึงฝึกความรอบคอบได้อีกทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใจเบิกบานไปด้วย


 หมากเก็บ

           การละเล่นยอดฮิตสำหรับเด็กผู้หญิงนั่นเอง ปกติจะใช้ผู้เล่น 2-4 คน และใช้ก้อนกรวดกลม ๆ 5 ก้อนเป็นอุปกรณ์

           กติกาก็คือ ต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน โดยใช้วิธี "ขึ้นร้าน" คือแบมือถือหมากทั้ง 5 เม็ดไว้ แล้วโยนหมาก ก่อนจะหงายมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับหมากอีกที ใครมีหมากอยู่บนมือมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน

           จากนั้นจะแบ่งการเล่นเป็น 5 หมาก โดยหมากที่ 1 ทอดหมากให้อยู่ห่าง ๆ กัน แล้วเลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ก่อนจะไล่เก็บหมากที่เหลือ โดยการโยนเม็ดนำขึ้น พร้อมเก็บหมากครั้งละเม็ด และต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า "ตาย" เช่นกัน

           ในหมากที่ 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เก็บทีละ 2 เม็ด เช่นเดียวกับหมากที่ 3 ใช้เก็บทีละ 3 เม็ด ส่วนหมากที่ 4 จะไม่ทอดหมาก แต่จะใช้ "โปะ" คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า "ตาย" แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย "ตาย" หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น ปกติการเล่นหมากเก็บจะกำหนดไว้ที่ 50-100 แต้ม ดังนั้นเมื่อแต้มใกล้ครบ เวลาขึ้นร้านต้องระวังไม่ให้แต้มเกิน ถ้าเกินต้องเริ่มต้นใหม่

           อย่างไรก็ตาม ปกติแล้ว "หมากเก็บ" มีวิธีเล่นหลายอย่าง แต่ละอย่างก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น หมากพวง , หมากจุ๊บ ,อีกาเข้ารัง


 รีรีข้าวสาร

           เชื่อเลยว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนส่วนใหญ่ผ่านการละเล่น "รีรีข้าวสาร" มาแล้ว และยังร้องบทร้องคุ้นหูที่ว่า "รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว" ได้ด้วย

           กติกา รีรีข้าวสาร ก็คือ ต้องมีผู้เล่น 2 คนหันหน้าเข้าหากัน และเอามือประสานกันไว้เป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ หัวแถวจะพาขบวนลอดซุ้มพร้อมร้องเพลง "รีรีข้าวสาร" จนเมื่อถึงประโยคที่ว่า "คอยพานคนข้างหลังไว้" ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันไม่ให้คนสุดท้ายผ่านเข้าไป เรียกว่า "คัดคน" และเล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนคนหมด

           ประโยชน์ของการเล่นรีรีข้าวสาร ก็คือ ช่วยให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส รู้จักมีไหวพริบ ใช้กลยุทธ์ให้ตัวเองเอาตัวรอดจากการถูกคล้องไว้ได้ รวมทั้งฝึกให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วย


 มอญซ่อนผ้า

           การละเล่นแสนสนุกที่ทำให้ผู้เล่นได้ลุ้นไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ผ้าผืนเดียวเท่านั้น แล้วให้ผู้เล่นเสี่ยงทาย ใครแพ้คนนั้นต้องเป็น "มอญ" ส่วนคนอื่น ๆ มานั่งล้อมวง คนที่เป็น "มอญ" จะต้องถือผ้าไว้ในมือแล้วเดินวนอยู่นอกวง จากนั้นคนนั่งในวงจะร้องเพลงว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ" 

           ระหว่างเพลงร้องอยู่ คนที่เป็น "มอญ" จะแอบทิ้งผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อทิ้งผ้าแล้ว จะแกล้งทำเป็นยังไม่ทิ้ง โดยเดินวนไปอีก 1 รอบ หากผู้ที่ถูกทิ้งผ้าไม่รู้ตัว "มอญ" จะหยิบผ้ามาตีหลังผู้เล่นคนนั้น แล้วต้องกลายเป็น "มอญ" แทน แต่หากผู้เล่นรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง ก็จะหยิบผ้ามาวิ่งไล่ตี "มอญ" รอบวง "มอญ" ต้องรีบกลับมานั่งแทนที่ผู้เล่นคนนั้น แล้วผู้ที่วิ่งไล่ต้องเปลี่ยนเป็น "มอญ" แทน


 เดินกะลา

           ดูจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นสมัยก่อนจะเห็นเด็ก ๆ เดินกะลา กันทั่วไป โดยผู้เล่นจะต้องนำกะลามะพร้าว 2 อันมาทำความสะอาดแล้วเจาะรูตรงกลาง ร้อยเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกหลุดเวลาเดิน เวลาเดินให้ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกเอาไว้แล้วเดิน หากมีเด็ก ๆ หลายคนอาจจัดแข่ง เดินกะลา ได้ด้วยการกำหนดเส้นชัยไว้ใครเดินถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป

           ประโยชน์ของการ เดินกะลา ก็คือช่วยฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย เพราะต้องระวังไม่ให้ตกกะลา ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะชินและหายเจ็บไปเอง แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เพลิดเพลินอีกด้วย


 กาฟักไข่

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่เคยได้ยินชื่อ แต่หลายคนไม่ทราบกติกา โดยวิธีการเล่นก็คือ ใช้อะไรก็ได้ลักษณะกลม ๆ เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นผู้ที่เป็นกา 1 คน มาสมมติว่าเป็น "ไข่" แล้วเขียนวงกลมลงบนพื้น 2 วง วงแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต และอีกวงหนึ่งอยู่ข้างในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วาง "ไข่" ทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ ไม่ให้ถูกแย่งไป

           กติกาของ กาฟักไข่ ก็คือคนข้างนอกต้องแย่งไข่มาให้ได้ โดยใช้แขนหรือมือเอื้อมเข้าไป แต่ห้ามนำตัวเข้าไปในวงกลม และต้องระวังไม่ให้อีกาถูกมือหรือแขนได้ด้วย หากแย่งไข่ออกมาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากา แล้วนำไข่ทั้งหมดไปซ่อน เพื่อให้กาตามหาไข่ หากพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดนำไปซ่อน ผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน


 งูกินหาง

           "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

           วิธีการเล่นงูกินหาง เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

           ประโยชน์ของการเล่นงูกินหาง ก็คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย


 ม้าก้านกล้วย

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่แสดงถึงความมีภูมิปัญญาของคนไทยทีเดียว เพราะในสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกต้นกล้วยไว้ทั้งนั้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงนำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะ ม้าก้านกล้วย ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจเด็กชายวัยซนมากที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะนำก้านกล้วยมาขี่เป็นม้า เพื่อแข่งขันกัน หรือทำเป็นดาบรบกันก็ได้

           วิธีทำม้าก้านกล้วย ก็ไม่ยาก เลือกตัดใบกล้วยออกมาแล้วเอามีดเลาะใบกล้วยออก แต่เหลือไว้ที่ปลายเล็กน้อยให้เป็นหางม้า เอามีดฝานแฉลบด้านข้างก้านกล้วยตรงโคนบาง ๆ เพื่อทำเป็นหูม้า แล้วหักก้านกล้วยตรงโคนหูม้าออก จากนั้นก็นำแขนงไม้ไผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบกว่า ๆ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้จนทะลุไปถึงก้าน เพื่อให้เป็นสายบังเหียนผูกปากกับคอม้านั่นเอง เสร็จแล้วก็นำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็ได้ม้าก้านกล้วยไปสนุกกับเพื่อน ๆ แล้ว


 ทอยเส้น

           หากย้อนไปสักปี พ.ศ.2510-2530 ทอยเส้นจะเป็นที่นิยมกับเด็ก ๆ อย่างมาก โดยอุปกรณ์การเล่นจะใช้ตัวตุ๊กตุ่นพลาสติกหรือยาง ขนาดความสูง 4-5 เซนติเมตร  (ที่แถมมากับขนมอบกรอบซึ่งฮิตมากในยุคนั้น) มาใช้ทอย และต้องมีพื้นถนนที่มีเส้นรอยต่อระหว่างบล็อก ระยะห่างประมาณ 3-5 เมตร หรือใช้การขีดลากเส้น 2 เส้นแทนก็ได้

           วิธีการเล่นทอยเส้น คือต้องเสี่ยงหาคนทอยก่อน โดยใช้วิธีเป่ายิงฉุบ โอน้อยออก ฯลฯ แล้วแต่จะเลือก หรือจะทอยเปล่า เพื่อดูว่าใครใกล้-ไกลเส้นมากกว่า คนที่ไกลเส้นที่สุดจะต้องเริ่มทอยก่อน เพราะจะเสียเปรียบที่สุด ส่วนคนที่ทอยทีหลังจะได้เปรียบ เพราะเลือกหาทางหนีทีไล่ได้ดีกว่า

           เมื่อกำหนดลำดับผู้เล่นแล้ว ให้ผู้เล่นยืนจรดเท้าอยู่เส้นแรก ห้ามล้ำเส้นออกไป แล้วใช้แขนเหวี่ยงตุ๊กตุ่นในมือออกไป ให้ตก หรือทับเส้นที่สอง เมื่อทอยครบทุกคน ให้เปรียบเทียบ ตุ๊กตุ่นของใครใกล้เส้นที่สุดเป็นผู้ชนะ จากนั้น ผู้ชนะจะยืนที่ตำแหน่งตุ๊กตุ่นของตัวเอง แล้วใช้ตุ๊กตุ่นของตัวเองเอื้อม หรือปาไปให้โดนตัวอื่นที่อยู่ห่างเส้นในลำดับถัดไป เพื่อจะได้กิน (ครอบครอง) ตุ๊กตุ่นตัวนั้นไว้ หากกินได้ ผู้เล่นคนอื่นจะถูกลงโทษตามตกลง เช่น ดีดมะกอก ฯลฯ เมื่อจบรอบแรก ก็หันหลังกลับ ยืนจรดเส้นที่สอง แล้วทอยกลับไปให้ใกล้เส้นแรกมากที่สุด ด้วยกติกาเช่นเดิม โดยดูแล้วมีลักษณะคล้ายการเล่นทอยเหรียญ หรือ Pitch and Toss ของต่างประเทศ

           อย่างไรก็ตาม การเล่นทอยเส้น ไม่ค่อยได้รับความนิยมในช่วงหลัง ๆ เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็เปลี่ยนการใช้ตุ๊กตุ่นไปเป็นเงิน จนดูคล้ายเป็นการพนันไป


 ว่าวไทย

           เชื่อว่าหลายคน คงเคยมีประสบการณ์การเล่นว่าวในช่วงปิดเทอมที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว แม้ว่าตอนนี้ภาพนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปแล้วก็ตาม โดย "การเล่นว่าวไทย" นั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา ตามที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมของไทยได้อย่างดี เพราะแต่ละท้องถิ่นจะคิดประดิษฐ์ว่าวแตกต่างกันไป "ว่าวไทย" จึงกลายเป็นมรดกตกทอดของแต่ละชุมชนและมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น

           โดย "ว่าว" มีหลายประเภท เช่น "ว่าวจุฬา" มีลักษณะเป็น 5 แฉก นิยมเล่นในภาคกลาง ,"ว่าววงเดือน" หรือ "ว่าวบุหลัน" มักตกแต่งเป็นลวดลายเรือกอและ นิยมเล่นในภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังมี "ว่าวปักเป้า""ว่าวงู" ฯลฯ 

           การเล่นว่าวนั้น เล่นได้ทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อน โดยอาศัยกระแสลมเป็นตัวฉุดให้ว่าวลอยขึ้น โดยหากเป็นลมหน้าหนาว จะเป็นลมที่พัดจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล ทำให้คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเล่นว่าวกันในช่วงนี้ ส่วนหน้าร้อน มีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า "ลมตะเภา" ทำให้ชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ นิยมเล่นว่าวในฤดูนี้

           ส่วนวิธีการเล่นว่าวนั้น ส่วนใหญ่จะชักว่าวให้ลอยสูงติดลมบน เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ หรือฟังเสียงของว่าว นอกจากนี้ยังสามารถชักว่าวต่อสู้กันบนอากาศก็ได้

           ยังมีอีกหลายการละเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อนนิยมนำมาเล่นกัน เช่น ขี่ม้าส่งเมือง, ตี่จับ, โมราเรียกชื่อ, ลิงชิงหลัก, ตั้งเต, โพงพาง, ชักเย่อ ,กระต่ายขาเดียว, กระโดดยาง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่สร้างสรรค์มรดกตกทอดทางวัฒนธรรมให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ได้อย่างดีทีเดียว

           ว่าแต่เพื่อน ๆ เคยเล่นการละเล่นพื้นบ้านไหนมาบ้างแล้วเอ่ย ?

ประเพณีไทย(ต่อ)

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม
ประเพณีบุญเบิกฟ้า  จังหวัดมหาสารคาม
          “ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน  โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา  ฟ้ากำลังจะร้อง  เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน  ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป  เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว  เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้  ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน  ด้วยการคืนธาตุ  คืนอาหารเป็นการตอบแทน  อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน  นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน  ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง  และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้  เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ  การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน  ชื่อว่า “โสลกฝน”
ประเพณีบุญเบิกฟ้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘  ชาวบ้านแบก  ตำบลนาทอง  อำเภอเชียงยืน  ได้ฟื้นฟูประเพณีหาบฝุ่นปุ๋ยคอกไปใส่แปลงนาทุกครัวเรือนเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีบำรุงดินแบบอีสานจากความร่วมมือของชุมชนปรากฏว่าผลผลิตข้าวในปีนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว  ชาวบ้านจึงจัดงานประเพณีนี้เรื่อยมา  และกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อถึงกำหนดงานชาวบ้านต่างช่วยกันหาบปุ๋ยคอกไปใส่ลงในแปลงนา  ควบคู่กับพิธีบูชาพระแม่ธรณี  ตั้งเครื่องสังเวย  เหล้าไห  ไก่ต้ม  ของหวาน  กล้วย  อ้อย  ตามรูปแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สมบูรณ์  และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแท้จริง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
ประเพณีบุญเบิกฟ้า  จังหวัดมหาสารคาม

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
ประเพณีบุญบั้งไฟ  จังหวัดยโสธร
          “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซี  บั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว  บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุด  สังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูง  และได้รับชัยชนะในที่สุด
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน  แต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐาน  พร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็ว  ทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้า  ของใครยิ่งสูง  อยู่บนฟ้าได้นาน  ก็จะได้รับชัยชนะ  ส่วนทีมที่พ่ายแพ้  บั้งไฟระเบิด  หรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนาน  อันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน  และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป
          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร
ประเพณีบุญบั้งไฟ  จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด

ประเพณีบุญผะเหวด
ประเพณีบุญผะเหวด  จังหวัดร้อยเอ็ด
          “ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน”
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี “มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
ถึงวันสุดท้าย  พิธีแห่ข้าวพันก้อน (ข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ  จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน)  และเทศน์สังกาด (เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน)  ร่วมทำบุญตักบาตร  เคล้าด้วยเสียงของการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตลอดทั้งวัน  ช่วงสายๆ ขบวนแห่ถวายต้นเงิน  หรือต้นกัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอนของพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระภิกษุภายในบึงผลาญชัย  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการจัดประกวดธงผะเหวด  การประกวดภาพวาด  ภาพถ่ายประเพณีบุญผะเหวด  การแข่งกินขนมจีน  สร้างความสนุกสนานได้ตลอดงาน
-  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี (บุญเดือนสี่)
-  สถานที่จัดงาน : บึงผลาญชัย  สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  อ.เมืองร้อยเอ็ด
ประเพณีบุญผะเหวด

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ
ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
“ภูเขาตั้งตระหง่านกลางเมือง แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นเจ้าพระยาสายใหญ่พาดผ่าน ชุมชนภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ตั้งรกราก ลงหลักพักอาศัย พร้อมนำวิถี วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติ ชวนให้เข้าไปสู่ห้วงมนต์เสน่ห์สีสันแห่งงาน ตรุษจีนปากน้ำโพ”
แหล่งชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่สานต่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงเคารพนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าพ่อกวนอู – เจ้าแม่ทับทิม – เจ้าแม่สวรรค์ โดยตั้งศาลขึ้น ๒ ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ
จากอดีตนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ตลาดปากน้ำโพได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตาย ชาวจีนปากน้ำโพได้นำเอา “กระดาษฮู้” (กระดาษยันต์) ของศาลเจ้ามาเผา ได้เป็นเถ้าจึงนำมาผสมน้ำดื่มจนหายจากโรคร้าย และเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธ์ ตั้งแต่นั้นมา ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการแห่องค์เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ไปรอบเมือง พร้อมด้วยขบวนการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ สิงโต เอ็งกอ ล่อโก้ว มังกรทอง องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง บอกเล่าตำนานความเชื่อของชาวปากน้ำโพอย่างยิ่งใหญ่
ชาวนครสวรรค์ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ เด็กๆ ต่างเข้าร่วมสมาคม ชมรมการแสดง ฝึกซ้อมท่วงท่าร่ายรำให้พร้อมเพรียงสำหรับการแสดง ตลอดสองฝั่งถนนในตัวเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีนต่างตั้งเครื่องเซ่นไหว้ บูชาบรรพบุรุษ คณะเอ็งกอกระชับไม้กระบองสองข้างไว้แน่น ทุกก้าว ทุกจังหวะดูเข้มแข็ง เด็กหญิงตัวเล็กมือถือถ้วยและตะเกียบไว้ในมือน้อยๆ เสียงกระทบถ้วยช้าๆ สอดรับดนตรีเพลงจีนเบาๆ เหล่าสิงโต เสือ เคลื่อนไหว เล่นสนุก ปีนป่ายบนเสาดอกเหมยด้วยความสง่างาม
ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ
เสียงประทัดจีนดังก้องกังวานเมื่อมังกรทองวาดลวดลายพลิ้วไหวดั่งล่องลอย จากความร่วมแรงของคนนับร้อยที่ต้องผลัดเปลี่ยนเวียนตำแหน่ง เพื่อให้มังกรทองโบยบินราวมีชีวิต ไปจนถึงยามเย็นแสงสีสันของโคมไฟที่ประดับอยู่ทั่วเมือง คณะงิ้วสื่อสำเนียงออกลีลาชวนติดตามเรื่องราว ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณหาดทรายริมต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

– วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
– สถานที่จัดงาน : ขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพธิ์และหาดทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ประเพณีแข่งเรือยาว

ประเพณีแข่งเรือยาว
ประเพณีไทย:ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน
“ความสง่างาม และน่าเกรงขามของหัวเรือพญานาค คือเอกลักษณ์ของเรือยาวจังหวัดน่าน ทีมฝีพายจากทั่วทุกสารทิศต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่ง เจ้าเรือพายแห่งสายน้ำน่าน เสียงเชียร์ดังสนั่นท้องน้ำ เสียงนกหวีดบอกสัญญาณ เสียงทุ้มต่ำของกลองเร่งเร้าจังหวะ สร้างความเร้าใจได้ตลอดการแข่งขัน”
สายน้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือช่วงฤดูน้ำหลาก เรือพายหัวพญานาคเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครแห่งเมืองน่านหลายสิบลำจากทั่วทุกคุ้มวัดต่างมาพร้อมกันเพื่อชิงชัยเจ้าแห่งสายน้ำน่าน ในงานบุญใหญ่ทอดถวายกฐินพระราชทานที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ที่มาของประเพณีเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
เมื่อเจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่ง ระดมสล่านับร้อยลำใหญ่ ๒ ลำ ใช้เวลาสร้างกว่า ๒ ปี เสร็จแล้วมีพิธีบวงสรวงเทพยดาประจำไม้ตะเคียน และบายศรีสู่ขวัญอันเชิญเรือทั้งสองลำลงสู่แม่น้ำน่าน โดยตั้งชื่อเรือลำแรกว่า “เรือท้ายหล้า” และเรืออีกลำชื่อว่า “เรือท้ายทอง” ต่อมาจึงประกาศให้ชาวบ้านใช้เรือทั้งสองลำเป็นแม่แบบในการสร้างเรือ เพื่อนำมาแข่งขัน และกำหนดให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงาน “ตานก๋วยสลาก” (ถวายทานสลากภัต) ของทุกปี
เริ่มต้นความงดงามด้วยริ้วขบวนเรือที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นลวดลายที่งดงาม ก่อขึ้นเป็นรูปร่างของสัญลักษณ์เมืองน่าน วัดภูมินทร์ก็ดี พระธาตุแช่แห้งก็ดี ค่อยๆ เคลื่อนไหลไปตามท้องน้ำผ่านสายตาผู้ชมนับหมื่น ตามด้วยขบวนเรือแข่งกระจายทั่วท้องน้ำ เมื่อทุกทีมพร้อม การจับสายประกบคู่เป็นที่เรียบร้อย เรือแข่งทั้งร่องน้ำซ้าย ร่องน้ำขวา เข้าประจำที่ สัญญาณปล่อยตัวมาพร้อมเสียงเชียร์ เสียงดนตรี และเสียงพากย์สุดเร้าใจ ริมฝั่งแบ่งโซนกองเชียร์ของแต่ละทีมแต่งกายด้วยสีสันสดใส ต่างร้องรำไปตามจังหวะ สอดประสานกับการจ้วงพายของฝีพาย จนเมื่อถึงเส้นชัย ใครจะแพ้ใครจะชนะไม่สำคัญเท่าภาพของความสนุกสนาน ความสามัคคี
ประเพณีแข่งเรือยาว
การแข่งขันไม่ได้เน้นหนักในด้านการแพ้หรือชนะ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสนุกสนาน ความสามัคคี รอยยิ้มของผู้คน รวมทั้งน้ำใจนักกีฬาที่ต่างมอบให้กันโดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ และเรื่องราวของการแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่านนั้น มากไปด้วยมนต์ขลังที่ยังคงเล่าผ่านเรือขุนน่าน ต้นแบบเรือดั้งเดิมที่ขุดจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้น ยาว ๑๒ วา ๓ ศอก ทั้งกาบโกลนเรือ และหัว หางนาคราช ตกแต่งลวดลายตลอดรำเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นประกาศศักดาคว้าชัยชนะจนได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวงถึง ๓ ปีซ้อน ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของเรือยาวแห่งเมืองน่านให้เป็นที่รู้จักสืบไป

– วันเวลาจัดงาน : ช่วงงานตานก๋วยสลาก ประมาณเดือนตุลาคม
- สถานที่จัดงาน : เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ

ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง

ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง

ด้วยสภาพท้องน้ำที่มีสันทรายเป็นระยะ ทำให้กระทงที่นำมาลอยไหลไปในทิศทางเดียวกันและกลายเป็นแนวคิดในการนำกระทงมาลอยเป็นสาย จนกระทั่งเริ่มมีการแข่งขันประกวดประชันอย่างจริงจังขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อถึงกำหนดเริ่มงานทุกชุมชนได้เตรียมตัวมาพร้อมเพื่อการแข่งขันขบวนแห่ที่สวยงาม เสียงดนตรีสุดคึกคัก ชาวบ้านต่างร่ายรำมาจนกระทั่งถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง เริ่มต้นขอขมาต่อพระแม่คงคา อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมปล่อยทุกข์โศกไปกับแพผ้าป่าน้ำ
ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก
“ลอยกระทงสาย ประเพณีไทยที่เกิดจากความร่วมมือ และความสามัคคีของคนในชุมชน ตระเตรียมแพผ้าป่า และกระทงสายพร้อมสรรพ จับสลากว่าใครจะลอยก่อนหลัง เมื่อทุกขั้นตอนพร้อมเรียบร้อย คนหนึ่งนำขี้ไต้ใส่กะลา อีกคนจุดไฟ อีกหนึ่งค่อยๆ กะจังหวะปล่อยเป็นสายไหลเรียงไปตามกระแสน้ำ”
การหลอมรวมหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปวัฒนธรรม ทั้ง ๓ สิ่งได้ทำให้เกิดงานประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างด้วยรูปแบบ อันมาพร้อมรายละเอียดแห่งความงดงาม จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือ กะลามะพร้าวที่ผ่านการขูดเนื้อไปทำเมี่ยง ของว่างที่คนจังหวัดตากมักจะรับประทานหลังอาหาร เหลือเจ้ากะลาที่วางทิ้งไว้ก็ดูไร้ประโยชน์ ลองนำมาทำเป็นกระทง ตรงกลางใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วนำเทียนขี้ผึ้งที่พระสงฆ์ใช้ช่วงจำพรรษา มาหล่อใส่ในกะลา เพียงเท่านี้ก็พร้อมนำไปลอย โดยชาวบ้านนั้นเชื่อว่าเทียนขี้ผึ้งเหล่านี้ นับเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเสริมสร้างสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยได้นั่นเอง
ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง
- วันเวลาการจัดงาน : ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
- สถานที่จัดงาน : แม่น้ำปิง บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย

ประเพณีข้าวสาก

ประเพณีข้าวสาก
งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัต) คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุสลไปให้กับเปรต ซึ่งงานบุญข้าวสากกับงานบุญข้าวประดับดินในเดือน ๙ จะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและผู้ล่วงลับไปแล้ว
มูลเหตุของการเกิดงานบุญข้าวสาก สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน มารดาจึงหาผู้หญิงมาให้ชายหนุ่มจึงแต่งงานกับหญิงสาวผู้นั้น แต่อยู่กันมานานก้ไม่มีบุตรสักที มารดาจึงหาภารยาให้ใหม่ พออยู่กินมาไม่นานภารยาน้อยก็ตั้งครรภ์ ภารยาหลวงเกิดอิจฉาจึงคิดวางแผนบอกกับภรรนาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์ภรรยาน้อยต้องบอกนางเป็นคนแรก
เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์ นางจึงบอกกับภรรยาหลวง ภรรยาหลวงจึงนำยาที่ทำให้แท้งให้ภรรยาน้อยกิน พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ครั้งที่สองภรรยาหลวงก็นำยาแท้งให้กินอีกพอครั้งที่สามภรรยาน้อยไม่บอกภรรยาหลวงแต่หนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ภรรยาหลวงจึงตามไปแล้วให้ยากินอีก แต่คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่แล้ว แต่ลูกในท้องนอนขวางทำให้บีบหัวใจจนตาย ก่อนที่ภรรยาน้อยจะตายนางได้จองเวรกับภรรยาหลวงว่า ชาติหน้าของให้นางได้เกิดเป็นยักษิณีและให้ได้กินภรรยาหลวงและลูกของภรรยาหลวง
ประเพณีข้าวสาก
ชาติต่อมาภรรยาน้อยได้เกิดเป็นแมว ส่วนภรรยาหลวงถูกสามีฆ่าตายแล้วเกิดเป็นไก่ และอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับแมว ครั้นไก่ถูกออกไข่มาก็ถูกแมวกินถึง 3 ครั้ง ก่อนแม่ไก่ตาย แม่ไก่พูดอาฆาตแมวว่า ในชาติหน้าขอให้ได้กินแม่แมวและลูกแมว
ชาติต่อมาแม่ไก่ได้เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็ไปกินลูกนางถึง 3 ครั้ง ก่อนนางเนื้อตายได้ผูกอาฆาตกับเสือเหลืองว่า ชาติหน้าขอให้ได้กินเสือเหลืองและลูกเสือเหลือง
ชาติต่อมานางเนื้อไได้เกิดเป็นยักษิณี เสือเกิดเ็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถึ ครั้นเจริญเติบโตก็แต่งงานกับชายหนุ่มพอมีลูกก็ถูกนางยักษิณีโขมยลูกไปกินถึง 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 3 นางกุลธิดาและสามีพร้อมลูกวิ่งหนีไปยังวัดเชตวันมหาวิหารซึ้งขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาอยู่ สองมีภรรยาจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีอยู่หน้าวัด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาและเล่าภูมิหลังของทั้งสามให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดานำนางยักษิณีไปเลี้ยง นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ท้ายทุ้งนา นางยักษิณีเป็นผู้ยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้งหรือน้ำท่วมนางก็บอกกับนางกุลธิดาทุกครั้ง ทำให้ข้าวในนาของนางกุลธิดาได้ผลดี ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวก็พร้อมใจกันไปถามเกณฑ์ขอฝนฟ้า ทำใช้ชาวนาของชาวบ้านได้ผลดี ชาวบ้านจึงนำอาหารไปให้กับยักษิณีเป็นการตอบแทน
“สำหรับบุญข้าวสากในปัจจุบัน จะกระทำในวันขึ้น 15 ค้ำ เดือน 10 โดยชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานใส่บาตรพอถึงตอนเพลชาวบ้านจะจัดสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทาน นำไปถวายพระโดยเขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำหรับแล้วใส่ลงบาตร และนิมนต์ให้พระสงฆ์และสามเณรรูปใดจับสลากเป็นชื่อของใครคนนั้นก็จะนำสำรับกับข้าวไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น”

ประเพณีสงกรานต์ล้านนา

ประเพณีสงกรานต์ล้านนา
ประเพณีสงกรานต์ ชาวล้านนาจะเรียกว่า “ปเวณีปีใหม่ หรือ ปาเวณีปีใหม่” อ่านว่า ป๋า-เว-นี-ปี๋-ใหม่ เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนาเดิมนั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันสังกรานต์ล่อง (อ่านว่า สังขานล่อง) ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ตามประกาศของทางราชการ แต่ปัจจุบันจะยึดตามประกาศของทางราชการซึ่งมักจะตรงกับเดือน ๗ เหนือ หรือเดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์จะจัดขึ้นอย่างน้อย ๓-๕ วัน คือ
“วันแรก วันสงกรานต์ล่อง เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนและย่างเข้าสู่ราศีเมษ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ในตอนเช้ามืดจะมีปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์สวมใส่เสื้อผ้าสีแดง ล่องแพไปตามลำน้ำ และปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์จะนำสิ่งชั่วร้ายมาด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไป ชาวบ้านจึงทำการยิงปืนหรือจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั้น อีกทั้งชาวบ้านจะปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้าและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตัวใหม่ ส่วนกษัตริย์หรือผู้ครองนครล้านนา จะทำการสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้และจะลงไปลอยเคราะห์ในแม่น้ำ”
“วันที่สอง วันเนาหรือวันเน่า สำหรับวันนี้ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ห้ามผู้ใดทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้ามีการด่ากัน ปากของผู้ด่านั้นจะเน่า สำหรับพิธีกรรมของวันเนานี้ชาวบ้านจะเตรียมซื้อสิ่งของและอาหารสำหรับไปทำบุญในวันพญาวัน ส่วนตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันดา” คือวันที่มีการเตรียมสิ่งของเพื่อไปทำบุญ”
“วันที่สาม วันพญาวัน เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ โดยในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร อีกทั้งยังมีการทำทานขันข้าว (อ่านว่า ตาน-ขัน-เข้า) เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางคนอาจจะนำอาหารคาวหวานไปมอบให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้ที่ตนเคารพ เรียกว่า “ทานขันเข้าคนเถ้าคนแก่”
ประเพณีสงกรานต์ล้านนา


ประเพณีชักพระ

ประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีของชาวภาคใต้ โดยจะปฏิบัติกันในช่วงออกพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) ซึ่งมีความเชื่อว่า ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสร็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา พอถึงช่วงออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ทำให้ชาวบ้านมีความปราบปลื้มมาก จึงอันเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกและแห่ไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยสมัยพุทธกาลชาวบ้านจึงนำพระพุทธรูปมาแห่สมมุติแทนพระพุทธองค์
ประเพณีชักพระหรือลากพระมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของศาสนาพราหมณ์ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่างๆ ต่อมาชาวพุทธได้นำมาดัดแปลงให้ตรงกับศาสนาพุทธ ประเพณีชักพระหรือลากพระได้ถ่ายทอดมาถึงประเทศไทยภาคใต้ได้รับและนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม
“การชักพระหรือลากพระของชาวใต้มี ๒ ประเภท คือ ลากพระทางบกกับลากพระทางน้ำ”
การลากพระทางบก คือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนนมพระ (คือยานพาหนะที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในการลากพระทางบก) หรือบุษบกแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางบกเหมาะกับวัดที่อยู่ห่างไกลแม่น้ำลำคลอง
การลากพระทางน้ำคือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ขึ้นประดิษฐานบนเรือพระแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางน้ำเหมาะกับวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ
ในวันชักพระหรือลากพระจะมีการตักบาตรหน้าล้อ โดยชาวบ้านจะเตรียมอาหารมาใส่บาตร ซึ่งบาตรนั้นจะเตรียมไว้หน้าพระลาก การตักบาตรหน้านมพระเรียกว่า “บาตรหน้าล้อ” หลังจากตักบาตรเสร็จแล้วจะอันเชิญพระลากประดิษฐานบนบุษบก และเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมต้ม (ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวและห่อด้วยใบพ้อ) มาใส่บาตรและแขวนไว้หน้านมพระ และเมื่อมีการลากพระถึงหน้าบ้านใครคนในบ้านนั้นก็จะนำขนมต้มออกมาใส่บาตร
“แต่การลากพระทางน้ำ เรือพายของชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าใกล้เรือพระได้ ชาวบ้านที่ต้องการทำบุญด้วยขนมต้ม จะใช้วิธีปาต้มหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซัดต้ม” ”
เมื่อเรือพระทุกลำมาถึง ณ จุดหมายแล้ว จะมีการประกวดเรือพระ โดยแยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ เรือพระบกและเรือพระน้ำ พอถึงเวลาบ่ายหรือเย็นก็จะลากเรือพระกลับวัด แต่ในปัจจุบันเรือพระจะจอดไว้ประมาณ ๓-๕ วันถึงจะลากกลับวัด เนื่องจากว่ามีประชาชนร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการลากพระนิยมทำกันแทบทุกจังหวัดของภาคใต้ แต่การลากพระที่มีชื่อเสียงก็เช่น ที่อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
ที่มา : ฐิติรัฐน์ & คามิน ทีมหนังสือรวมเรื่องประเพณีไทย 4 ภาค
ประเพณีชักพระ

ประเพณีตักบาตรเทโว

ประเพณีตักบาตรเทโว
ประเพณีตักบาตรเทโว จะจัดขึ้นในช่วงออกพรรษาของหลายๆ จังหวัดในภาคกลาง เช่น อุทัยธานี สระบุรี เป็นต้น
ประเพณีของไทย ตักบาตรเทโว ได้มีกล่าวไว้ในตำนานวันเทโวโรหณสูตรเรื่องการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าหลังจากที่เสด็จโปรดพระมารดาในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ครั้นครบกำหนด ๓ เดือน ตรงกับวันปวารณาออกพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทางบันไดสวรรค์ที่เทวดาได้นิรมิตบันไดขึ้นมา ๓ บันได คือ บันไดทองอยู่ทางด้านขวาสำหรับพวกเทพยดาลง บันไดแก้วอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้าเสด็จลง และบันไดเงินอยู่ทางด้านซ้ายสำหรับพวกพรหมลง ได้มีทั้งเทพบริวาร เทวดา รวมทั้งมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหมดได้รอลงเพื่อส่งเสด็จ แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จลงนั้น พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์บันดาลให้โลกทั้ง ๓ โลก คือ เทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์นรกมองเห็นกันหมด เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” แล้วทรงแสดงโปรดสัตว์ทั้ง ๓ โลก จึงทำให้มีผู้บรรลุมรรคผลนับไม่ถ้วน ฝ่ายชาวเมืองในโลกมนุษย์ต่างดีใจและเฝ้ารอพระพุทธองค์ ต่างตระเตรียมอาหารมารอใส่บาตร แต่ด้วยมีคนเป็นจำนวนมากทำให้หลายๆ คนใส่บาตรกับพระพุทธองค์ไม่ถึง จึงต้องใช้วิธีโยนอาหารใส่บาตร ซึ่งในปัจจุบันคือการทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรนั่นเอง
จากตำนานดังกล่าวจึงทำให้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณขึ้น โดยเฉพาะที่วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี จะมีประชาชนทั้งในจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงมารอใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก โดยพระสงฆ์จากวัดต่างๆ จะเดินลงมาทางบันได และมีประชาชนยืนรอใส่บาตรกันตามสองข้างทางด้วยอาหารคาวหวานแล้วยังมีการใส่บาตรข้าวต้มลูกโยนด้วย เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ก็เป็นเสร็จพิธี